IM not AFRAID

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

แนวคิดในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ความคิดและความเคลื่อนไหวเพื่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย มีมาจากประชาชนในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 23 การปกครองของอังกฤษซึ่งค่อย ๆ ดำเนินไปสู่ระบบรัฐสภาแห่งเสรีประชาธิปไตย โดยไม่ต้องมีการปฏิวัติเสียเลือดเนื้อ การเรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองของสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษใน พ.ศ. 2319 (ค.ศ. 1776) และการปฏิวัติฝรั่งเศสใน พ.ศ. 2332 (ค.ศ. 1789) หลังจากนั้นความคิดแบบประชาธิปไตยก็แพร่ขยายไปยังประเทศต่าง ๆ ประเทศไทยก็ได้รับแนวความคิดเรื่องการปกครองประเทศระบอบประชาธิปไตย ด้วยการติดต่อกับประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกา

การติดต่อกับต่างประเทศในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มตั้งแต่มีพระราชไมตรีทางการค้ากับประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2367 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาพวกมิชชันนารีจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในประเทศไทย คนไทยเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ ศึกษาวิทยาการต่าง ๆ โดยเฉพาะพระภิกษุเจ้าฟ้ามงกุฎ กลุ่มพระบรมวงศานุวงศ์ และกลุ่มข้าราชการก็ศึกษาวิชาการต่าง ๆ ด้วย ดังนั้นสังคมไทยบางกลุ่มจึงได้มีค่านิยมโลกทัศน์ตามวิทยาการตะวันตก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2394 นั้นพระองค์ทรงตระหนักว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องยอมเปิดสันติภาพกับประเทศตะวันตกในลักษณะใหม่ และปรับปรุงบ้านเมืองให้ก้าวหน้าเยี่ยงอารยประเทศ ทั้งนี้เพราะเพื่อนบ้านกำลังถูกคุกคามด้วยลัทธิจักรวรรดินิยม จึงทรงเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทยมาเป็นการยอมทำสนธิสัญญาตามเงื่อนไขของประเทศตะวันตก และพยายามรักษาไมตรีนั้นไว้เพื่อความอยู่รอดของประเทศ



ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์อย่างแรงกล้าที่จะปฏิรูปประเทศไทยให้เจริญทัดเทียมกับประเทศตะวันตก ปัจจัยที่จะนำไปสู่จุดหมายได้คือ คน เงิน และการบริหารที่ดี ทรงมีพระราชดำริว่า หนทางแห่งความก้าวหน้าของชาติจะมีมาได้ก็ต้องอาศัยการศึกษาเป็นปัจจัย จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยเด็ดเดี่ยวว่า เยาวชนรุ่นใหม่ทั้งของราชวงศ์และบุตรขุนนางจะต้องได้รับการศึกษาอย่างดีกว่ารุ่นพระองค์เอง

ในระยะแรกอิทธิพลของประเทศตะวันตกที่มีต่อประเทศไทยคือ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ (หม่อมราชวงศ์เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษเป็นพวกแรก นับว่าเป็นครั้งแรกที่ทรงส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป ต่อมาก็ส่งพระราชโอรสและนักศึกษาไปศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศเดนมาร์ก และประเทศรัสเชีย

ก่อนหน้านั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคัดเลือกหม่อมเจ้า 14 คน ไปเรียนหนังสือที่สิงคโปร์ 2 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2415 ในโอกาสที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2413 นั่นเป็นการเตรียมคนที่จะเข้ามาช่วยแบ่งเบาพระราชภาระในการปรับปรุงประเทศ การเตรียมปัจจัยการเงินเป็นการเตรียมพร้อมประการหนึ่ง ถ้าขาดเงินจะดำเนินกิจการใดให้สำเร็จสมความมุ่งหมายคงจะเป็นไปได้ยาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นว่า การจัดการเงินแบบเก่ามีทางรั่วไหลมาก พวกเจ้าภาษีนายอากรไม่ส่งเงินเข้าพระคลังครบถ้วนตามจำนวนที่ประมูลได้ พระองค์จึงทรงจัดการเรื่องการเงินของแผ่นดินหรือการคลังทันทีที่พระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะ มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินเต็มที่ เริ่มด้วยให้ตราพระราชบัญญัติตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ จ.ศ. 1235 (พ.ศ. 2416) มีพระราชบัญญัติกรมพระคลังมหาสมบัติในปี จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) เพื่อจะได้ใช้จ่ายทุนบำรุงประเทศ ต่อมาทรงให้จัดทำงบประมาณจัดสรรเงินให้แต่กระทรวงต่าง ๆ เป็นสัดส่วน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงทันได้ปรับปรุงการปกครองประเทศให้เป็นไปตามที่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ ก็มีกลุ่มเจ้านายและข้าราชการทำหนังสือกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดินเมื่อ ร.ศ. 103 (พ.ศ. 2427) ทั้งนี้อาจจะวิเคราะห์ได้ว่า ที่พระองค์ยังไม่ทรงปรับปรุงงบการบริหารประเทศก่อน พ.ศ. 2428 เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น คือ วิกฤติการณ์วังหน้า เมื่อ พ.ศ. 2417 การที่ทรงตั้งหอรัษฎากรพิพัฒน์ให้รวมเงินมาอยู่ที่เดียวกัน กระทบกระเทือนต่อเจ้านาย และข้าราชการ โดยเฉพาะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมหมื่นไชยชาญ วิกฤติการณ์วังหน้าเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่างวังหลวงกับวังหน้า แสดงถึงปฏิกิริยาโต้ตอบ การริเริ่มดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางคือสถาบันกษัตริย์ เห็นได้ชัดเจน ว่าเมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ทิวงคต ในปี พ.ศ. 2428

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงปรับปรุงการบริหารการปกครองส่วนกลางเป็น 12 กรม (ต่อมาเรียกว่า กระทรวง) ในปี พ.ศ. 2432

ความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ได้เริ่มมีมาแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีความเคลื่อนไหวมาตลอดจนถึงวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แนวความคิดและความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ได้แก่

- การเรียกร้องต้องการรัฐธรรมนูญ ของกลุ่มเจ้านายและข้าราชการใน ร.ศ. 103

- ร่างรัฐธรรมนูญ แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

- บทความเกี่ยวกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยของเทียนวรรณ

- ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของกลุ่มกบฏ ร.ศ. 130

- แนวพระราชดำริและการเตรียมการเรื่องระบอบประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว


วันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

การเตรียมการเปลี่ยนแปลง

คณะราษฎรได้มีการประชุมเตรียมการหลายครั้ง รวมถึงได้มีการล้มเลิกแผนการบางแผนการ เช่น การเข้ายึดอำนาจในวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาซึ่งตรงกับวันที่ 16 มิถุนายน แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง จนกระทั่งสุดท้ายได้ข้อสรุปว่า จะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับที่วังไกลกังวล ทำให้เหลือข้าราชการเพียงไม่กี่คนอยู่ในกรุงเทพ

ในการวางแผนดังกล่าวกระทำที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร โดยมีการเลื่อนวันเข้าดำเนินการหลายครั้งเพื่อความพร้อม



ประชาชนหลั่งไหลเข้ามาดูเหตุการณ์ ณ ลานพระราชวังดุสิต

หลังจากนั้นยังได้มีการประชุมกำหนดแผนการเพิ่มเติมอีกที่บ้านพระยาทรงสุรเดช โดยมีการวางแผนว่าในวันที่ 24 มิถุนายนจะดำเนินการอย่างไร และมีการแบ่งงานให้แต่ละกลุ่ม แบ่งออกเป็น 4 หน่วยด้วยกัน คือ

หน่วยที่ 1 ทำหน้าที่ทำลายการสื่อสารและการคมนาคมที่สำคัญ เช่น โทรศัพท์ โทรเลข ดำเนินการโดยทั้งฝ่ายทหารบกและพลเรือน ทหารบกจะทำการตัดสายโทรศัพท์ของทหาร ส่วนโทรศัพท์กลางที่วัดเลียบมี นายควง อภัยวงศ์ นายประจวบ บุนนาค นายวิลาศ โอสถานนท์ ดำเนินการ โดยมีทหารเรือทำหน้าที่อารักขา ส่วนสายโทรศัพท์และสายโทรเลขตามทางรถไฟและกรมไปรษณีย์เป็นหน้าที่ของ หลวงสุนทรเทพหัสดิน หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์ หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์ เป็นต้น ซึ่งหน่วยนี้ยังรับผิดชอบคอยกันมิให้รถไฟจากต่างจังหวัดแล่นเข้ามาด้วย โดยเริ่มงานตั้งแต่เวลา 06.00 น.

หน่วยที่ 2 เป็นหน่วยเฝ้าคุม โดยมากเป็นฝ่ายพลเรือนผสมกับทหาร ทำหน้าที่ควบคุมตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญต่าง ๆ เช่น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต จากวังสวนผักกาดมายังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระประยุทธอริยั่น จากกรมทหารบางซื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการวางแผนให้เตรียมรถยนต์สำหรับลากปืนใหญ่มาตั้งเตรียมพร้อมไว้ โดยทำทีท่าเป็นตรวจตรารถยนต์อีกด้วย โดยหน่วยนี้ดำเนินงานโดย นายทวี บุณยเกตุ นายจรูญ สืบแสง นายตั้ว ลพานุกรม หลวงอำนวยสงคราม เป็นต้น โดยฝ่ายนี้เริ่มงานตั้งแต่เวลา 01.00 น.

หน่วยที่ 3 เป็นหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนย้ายกำลัง ซึ่งทำหน้าที่ประสานทั้งฝ่ายทหารบกและทหารเรือ เช่น ทหารเรือจะติดไฟเรือรบ และเรือยามฝั่ง ออกเตรียมปฏิบัติการณ์ตามลำน้ำได้ทันที

หน่วยที่ 4 เป็นฝ่ายที่เรียกกันว่า "มันสมอง" มี นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ร่างรัฐธรรมนูญ และหลักกฎหมายปกครองประเทศต่าง ๆ รวมทั้งการเจรจากับต่างประเทศเพื่อทำความเข้าใจภายหลังการปฏิบัติการสำเร็จแล้ว

แม้ว่าทางคณะราษฎรจะพยายามที่ทำลายหลักฐานต่าง ๆ แล้ว ยังมีข่าวเล็ดรอดไปยังทางตำรวจ ซึ่งได้ออกหมายจับกลุ่มผู้ก่อการ 4 คน คือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี และ นายตั้ว ลพานุกรม อย่างไรก็ตามเมื่อนำเข้าแจ้งแก่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ก็ถูกระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากไม่ทรงเห็นว่าน่าจะเป็นอันตราย และให้ทำการสืบสวนให้ชัดเจนก่อน

การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎร ได้ใช้กลลวง นำทหารบกและทหารเรือมารวมตัวกันบริเวณรอบ พระที่นั่งอนันตสมาคม ประมาณ 2000 คน ตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้นนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่าน ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ ๑ ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เสมือน ประกาศยึดอำนาจการปกครอง ก่อนจะนำกำลังแยกย้ายไปปฏิบัติการต่อไป

หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่า

ชนวนที่ทำให้คณะราษฎรลงมือวางแผนยึดอำนาจมีหลายสาเหตุ ได้แก่

สาเหตุแรก สภาพบ้านเมืองในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาอภิรัฐมนตรีสภาซึ่งสมาชิกทั้งหมดเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ด้วยเหตุผลที่จำให้แก้สถานการณ์ที่กล่าวว่า พระมหากษัตริย์กับพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่แตกแยกกัน อภิรัฐมนตรีสภาช่วยแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้หลายประการแต่ความคิดของผู้ใหญ่และของผู้เยาว์กว่าย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นการยับยั้งข้อเสนอบางเรื่องโดยเฉพาะพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเย้าอยู่หัวที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ประชาชนชาวไทยในวาระราชวงศ์จักรีทรงปกครองแผ่นดินมาครบ 150 ปี จึงทำให้คณะราษฎรและกลุ่มหนังสือพิมพ์มองว่า พวกเจ้าหลงกับอำนาจ

สาเหตุที่สอง ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศรายได้ไม่พอกับรายจ่าย สืบเนื่องจากเศรษฐกิจของโลกหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 และการใช้จ่ายในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว การแก้ไขคือ การดุลข้าราชการ ยุบเลิกหน่วยงานต่าง ๆ ตัดทอนค่าใช้จ่ายของกระทรวง กรม กอง และเก็บภาษีบางประการเพิ่มการแก้ไขดังนี้ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้เสียประโยชน์ ในวงการทหารก็เช่นกัน การขัดแย้งเรื่องงบประมาณกระทรวงกลาโหม จนถึงเสนาบดีกระทรวงกลาโหมขอลาออกจากราชการ จึงเป็นเหตุให้นายทหารคิดเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในขณะที่มีการดุลข้าราชการออก ก็มีกลุ่มบุคคลมองว่าดุลออกเฉพาะสามัญชน ส่วนข้าราชการที่เป็นเจ้าไม่ต้องถูกดุล แล้วยังบรรจุเข้าทำงานแทนสามัญชนอีก ความแตกต่างทางฐานะด้านสังคมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง

สาเหตุที่สำคัญที่สุดก็คือ ความล่าช้าในการบริหารราชการแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์จะฝึกข้าราชการในสภากรรมการองคมนตรีให้เรียนรู้วิธีการประชุม ปรึกษาแบบรัฐสภาเพื่อเตรียมการพระราชทานรัฐธรรมนูญ ก็ทำได้อย่างไม่มีผลเท่าไรนักพระราชบัญญติเทศบาลซึ่งจะเป็นรากฐานของการปกครองตนเองก็ยังไม่ได้ประกาศออกใช้ และข้อสุดท้ายคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ผู้ชำนาญการร่างไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ยังไม่ได้พระราชทานแก่ประชาชน

การเปลี่ยนแปลงการปกครองกระทำได้สำเร็จ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชน การปกครองของประเทศจึงเปลี่ยนไป คือมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ



ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์สังคม

ทางประวัติศาสตร์สังคม หลักฐานประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นหมุดทองเหลือง ฝังอยู่กับพื้นถนน บนลานพระบรมรูปทรงม้า ด้านสนามเสือป่าอาจกล่าวได้ว่า "กบฏ ร.ศ. 130" เป็นแรงขับดันให้คณะราษฎร ก่อการปฏิบัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยภายหลังการยึดอำนาจแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญผู้นำการกบฏ ร.ศ. 130 ไปพบและกล่าวกับ ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม" และหลวงประดิษมนูธรรมก็ได้กล่าวในโอกาสเดียวกันว่า "พวกผมถือว่าการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. 130"

สังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475

หลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ครองราชย์นั้น สังคมไทยได้ก้าวสู่ความเป็นอารยะตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเจริญที่ปรากฏอยู่ในรูปของวัตถุไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง รถไฟ ไฟฟ้า ประปา เขื่อนชลประทาน โรงพยาบาล ระบบการสื่อสารคมนาคม ที่ทำการรัฐบาล ห้างร้าน และตึกรามบ้านช่อง ตลอดจนเครื่องใช้อันทันสมัย อันมีเจ้านายและชนชั้นสูงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่วนชาวบ้านสามัญชนเป็นผู้ตาม

นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงในขนบธรรมเนียมบางอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับการปกครองระบบใหม่ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลต้องติดต่อกับชาติอื่น ๆ ทั่วโลก จึงต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทยให้เป็นสากลและสอดคล้องกับความเป็นไปของโลก แต่ให้คงเอกลักษณ์ของความเป็นไทยไว้ที่เด่นชัดในสมัยนั้นก็คือเรื่องการแต่งกายในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ( พ.ศ. 2481-2487 ) ได้มีบัญญัติเรียกว่ารัฐนิยม ซึ่งเป็นการปลุกระดมอย่างรุนแรง ซึ่งแสดงนโยบายของประเทศว่าต้องการให้ประชาชนคนไทยรักหวงแหนและภูมิใจในความเป็นไทย เช่น ให้ข้าราชการแต่งเครื่องแบบตามที่กำหนด ห้ามสวมกางเกงแพร ให้ทักทายกันด้วยคำว่าสวัสดี ห้ามกินหมาก ให้สวมหมวกทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ใช้คำขวัญปลุกใจทุกเช้าก่อนเรียน การยกเลิกบรรดาศักดิ์โดยให้ใช้เพียงชื่อ สกุล เหมือนคนทั่วไป การเคารพธงชาติ และเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงมหรสพ ฯลฯ



สภาพสังคมหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ทำให้สังคมไทยเป็นสังคมประชาธิปไตย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ

- ประชาชนขึ้นมาเป็นเจ้าของประเทศและมีบทบาทในการปกครองประเทศด้วยกระบวนการกฎหมายรัฐธรรมนูญ

- ชนชั้นกลาง พวกพ่อค้า ปัญญาชน ขึ้นมามีบทบาทในสังคมแต่ผู้กุมอำนาจยังคงได้แก่ทหารและข้าราชการ

- นายทุนเติบโตจากการค้าและอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็วพร้อมทั้งมีอิทธิพลและบทบาทจนได้เปรียบในสังคม

- เกิดช่องว่างในสังคมทำให้ชาวไร่ ชาวนา และกรรมกรมีฐานะและชีวิตอยู่กับความยากจนและถูกเอารัดเอาเปรียบจากสังคม

แบบทดสอบ

http://quickr.me/ngP4usl

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น